วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สัตตมหาสถาน : วิดีโอ สถานที่เสวยวิมุตติสุขที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 7 พร้อมวิดีโอ




สัตตมหาสถาน หมายถึง สถานที่เสวยวิมุติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ พุทธคยา แล้ว โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ ๑ : “พระแท่นวัชรอาสน์”

พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งสมาธิที่ “พระแท่นวัชรอาสน์” หรือโพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน พระองค์ได้ทรงกำหนดนึกในพระหทัย เพื่อพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาทแบบตามลำดับตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วมีพุทธอุทานว่า “ในการใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ”

ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาทแบบย้อนตามลำดับ คือ พิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า “ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งแบบตามลำดับและย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานว่า “ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น”

หมายเหตุ : “พระมหาเจดีย์พุทธคยา” หรือ “พระมหาโพธิเจดีย์” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” โดยมี “พระแท่นวัชรอาสน์” หรือ “โพธิบัลลังก์” ซึ่งมีความหมายว่า “พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษผู้ใจเพชร” ประดิษฐานคั่นอยู่ระหว่างกลาง

“พระแท่นวัชรอาสน์” นี้ พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้ทรงดำริให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่รองรับเครื่องสักการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่แต่ละครั้งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังเป็นจำนวนมากมาย โคนต้นไม้ที่เห็นในภาพนื้ คือ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อรักษาคุ้มครองพระแท่นและต้นพระศรีมหาโพธิ์ให้ปลอดภัยจากการสัมผัสจับ ต้องของผู้เข้าชม ที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากไม่ขาดสายในแต่ละวัน ทางการจึงสร้างกำแพงล้อมต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นไว้ดั่งที่เห็นในภาพ กำแพงนี้ถูกตกแต่งด้วยพวงมาลัย ผ้าสีต่างๆ และสายธงทิวต่างๆ ที่ชาวพุทธนำมาบูชาผูกไว้รอบกำแพง จนผู้ชมเดินรอบฐานพระมหาเจดีย์พุทธคยาไม่สามารถมองเห็นพระแท่นได้ในระดับ สายตา

สัปดาห์ที่ ๒ : “อนิมิสเจดีย์”

พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้ประทับตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

สถานที่นี้จึงเรียกว่า “อนิมิสเจดีย์” หรือเจดีย์ที่ไม่กระพริบตา

สัปดาห์ที่ ๓ : “รัตนจงกรมเจดีย์”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่ง “อนิมิสเจดีย์” กับ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทางด้านทิศเหนือของพระวิหารมหาโพธิสังฆาราม พุทธคยา สถานที่ตรงนั้นได้ก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุตจากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธเจ้า

สถานที่นี้จึงเรียกว่า “รัตนจงกรมเจดีย์” หรือเจดีย์แห่งทางจงกรมที่ประดับด้วยเพชรพลอย

สัปดาห์ที่ ๔ : “รัตนฆรเจดีย์”

เทวดาได้เนรมิต “เรือนแก้ว” ขึ้นทางด้านทิศเหนือของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอดเวลา ๗ วัน

สถานที่นี้จึงเรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์” หรือเจดีย์แห่งอาคารที่ประดับไปด้วยเพชรพลอย หรือเรือนแก้ว

สัปดาห์ที่ ๕ : “ต้นไทรอชปาลนิโครธ”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยัง “ต้นไทรอชปาลนิโครธ” หรือต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ ประทับอยู่ ๗ วัน ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามาร ๓ ตน คือ นางราคะ นางอรตี และนางตัณหา ได้อาสาผู้เป็นบิดาเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ไปเสีย แสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่ ๖ : “สระมุจลินท์”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ “สระมุจลินท์” หรือสระราชาแห่งต้นมุจละ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ไม้จิก ในปัจจุบัน ทั้ง “สระมุจลินท์” และ “ต้นมุจลินท์” ไม่มีให้เห็นแล้ว มีเพียงแต่ “สระมุจลินท์จำลอง” ที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณ พระวิหารมหาโพธิสังฆาราม พุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระมุจลินท์ดั้งเดิม) ด้วยเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้น จึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์

เมื่อพระองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ตลอด ๗ วันที่ใต้ต้นไทรอชปาลนิโครธแล้ว ก็ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์หรือต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว เป็นฝนหลงฤดู ฝนตกพรำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัว ๗ รอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจ ดังนี้

“ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง”

สัปดาห์ที่ ๗ : “ต้นราชายตนะ (ต้นเกด)”

ในสัปดาห์ที่ ๗ สัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ใต้ต้นเกด (ต้นราชายตนะ หรือต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตลอด ๗ วัน โดยได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน

ณ ต้นราชายตนะ นี้เอง ได้มี พ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องเป็นชาวพม่า ชื่อ “ตปุสสะ” กับ “ภัลลิกะ” นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากอุกกลชนบทผ่านมาทางตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าขณะทรงประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จึงได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนจากพ่อค้าพานิชทั้งสอง (ในทางประวัติศาสตร์ ชาวพม่าได้ไปมาค้าขายกับชาวอินเดียมาเป็นเวลาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียนมาแลกสินค้ากับชาวอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)

หลังจากพระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนเสร็จแล้ว ก็ทรงแสดงธรรมและประทานอนุโมทนาแก่พ่อค้าพานิชทั้งสอง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าพานิชทั้งสองก็เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะคู่แรกในพระพุทธศาสนา (เทฺววาจิกอุบาสก) ก่อนที่จะเดินทางต่อไป พ่อค้าพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอสิ่งของที่ระลึกจากพระพุทธองค์เพื่อให้นำ กลับไปบูชาสักการะ

พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา ๘ เส้นหลุดติดพระหัตถ์มา จึงทรงประทานให้แก่พ่อค้าพานิชทั้งสองไปเป็นการสนองความศรัทธาของเขา ชาวพม่าสองพี่น้องนี้ได้นำพระเกศาธาตุ ๘ เส้นนั้นกลับไปยังเมืองย่างกุ้ง บ้านเมืองของตน ครั้นพอถึงประเทศพม่าได้มีพิธีสมโภชพระเกศาธาตุนี้หลายวันหลายคืน และได้จัดสร้าง “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุ มาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้

หมายเหตุ : ข้าว “สัตตุผง” บาลีเรียกว่า “มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วนข้าว “สัตตุก้อน” บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ



เรียบเรียงเนื้อหามาจาก : สัตตมหาสถาน สถานที่เสวยวิมุติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง/สาวิกาน้อย
www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39332
หนังสือประวัติพระพุทธเจ้า www.dharma-gateway.com
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382
ภาพบันทึกและเอื้อเฟื้อโดย คุณ Venfaa Aungsumalin
facebook ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน
www.painaima.com/board/index.php?topic=213.0
www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น